ผู้เขียนเองได้พบเพื่อนฟิตเนสหลายๆคนที่ถามมาว่า ครอสฟิต เหมือนกับ Circuit Training รึเปล่า หรือว่ามันก็คือ Functional Fitness ใช่มั๊ย หรือมันต่างกันยังไง? นั่นสิ สรุปมันยังไง มาดูกัน
ก่อนอื่น สิ่งที่ครอสฟิตใกล้เคียงกับด Functional Fitness คือ ต่างก็เน้นสมรรถภาพทางร่างกาย หรือทางกีฬาด้วยกัน โดยไม่ได้เป็นการฝึกเพื่อความสวยงามของกล้ามเนื้อเหมือนการเพาะกายหรือยกเวท(ซึ่งถูกเรียกว่าการเข้าฟิตเนสไปแล้ว) แต่รูปร่างจะเป็นผลพลอยได้ตามมาเองตามความสามารถทางกายภาพ
ฟังก์ชันนอลฟิตเนสหลายๆครั้งจะเป็นการฝึกร่างกายเตรียมไว้ในการใช้งานเฉพาะทาง เช่นฝึกสำหรับต่อสู้ ฝึกวิ่ง ฯลฯ แต่ในหลายๆยิม จะเป็นการฝึกร่างกายให้แข็งแรงในภาพรวมก็ได้
แต่แน่นอนแม้แต่กรณีที่เป็นการฝึกความแข็งแรงแบบกว้างๆ แต่ครอสฟิตกับ “ฟิตเนส” เฉยๆ ก็ยังต่างกัน
ระบบเทียบมาตรฐานทั่วโลก vs ฟรีสไตล์
ในแวดวงครอสฟิต ทุกๆปีจะมีการจัดการแข่งขันครอสฟิตโอเพ่นที่ชาวครอสฟิตจากทั่วโลกสามารถเข้าร่วม(โดยบันทึกผลผ่านยิมที่เล่นประจำ ไม่ต้องเดินทางไปร่วม)ได้ เราจะสามารถบอกได้ว่าเราเล่นครอสฟิตเก่งอันดับที่เท่าไหร่ในไทย ในเอเชีย หรือในโลก และแน่นอนถ้าจะแข่งกันได้ มันจะต้องมีมาตรฐานท่าเล่นที่เป็นสากล ทุกคนได้โอกาสฝึกในแต่ละท่าเหมือนกัน จึงจะนำมาเปรียบเทียบกันได้อย่างยุติธรรม และนั่นทำให้แต่ละยิมต้องมีโปรแกรมการฝึกในทางเดียวกันด้วย ลองนึกดูมันจะช็อคแค่ไหนถ้ายิม(ที่ไม่ได้ฝึกแบบครอสฟิต)จัดนักกีฬาเข้าร่วมแข่งแล้วพบว่าที่ที่กำหนดให้ทดสอบบางท่า (เช่นท่า double under) ไม่มีใครเล่นในยิมนั้นมาก่อน

นอกจากนั้นแล้ว ในการเข้าร่วมจัดอันดับนักกีฬาดังกล่าว ยิมที่สังกัดจะต้องลงทะเบียนไว้ในสารระบบ และเวลาที่นักกีฬาเข้าไปบันทึกผลการเล่นใน games.crossfit.com ก็ควรจะมีรายชื่อยิมในสังกัดให้เลือกด้วย ถ้าไม่มี อาจจะเป็นไปได้ว่าครอสฟิตในยิมนั้นอาจจะไม่เหมือนครอสฟิตที่อื่น ซึ่งประสิทธิภาพในโปรแกรมก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับฝีมือโค๊ชในแต่ละแห่ง
มียกน้ำหนักสไตล์โอลิมปิก vs ไม่มี
การยกน้ำหนักแบบโอลิมปิก(Snatch, Clean&Jerk)ช่วยฝึกการออกแรงแบบ explosive (คือความแรงมาพร้อมความเร็ว)ได้เป็นอย่างดี ทำให้นักกีฬาที่ต้องการอัตราเร่งสูงที่สุดในโลกอย่างนักวิ่งระยะสั้น มักจะมีการฝึกยกน้ำหนักแบบโอลิมปิกอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นในกีฬาต่อสู้ส่วนใหญ่ เราไม่ได้ต้องการแรงที่ไม่มีความเร็ว หรือความเร็วที่ไม่มีแรง การฝึกยกน้ำหนักแบบโอลิมปิกจึงควรจะเป็นส่วนประกอบที่นักกีฬาหลายประเภทต่างใช้ฝึกเสียอย่างเดียวมันฝึกยาก

ถ้าคนที่ไม่เคยเล่นฟิตเนสเลยเดินเข้าไปในยิมแล้วเราสอนให้เขายกดัมเบลท่าพื้นฐานเช่น bicep curl เพียงไม่กี่นาทีเขาก็ทำได้ แต่ถ้าน้องคนเดิมอยากจะฝึกยกน้ำหนักแบบโอลิมปิก ก่อนอื่นเขาต้องหาโค๊ชที่เล่นเป็นและสอนได้(ซึ่งอาจจะหาไม่ได้เลย) จากนั้นก็ฝึกฟอร์มอีกนานก่อนจะได้เริ่มใช้น้ำหนักจริง เรียกได้ว่าหนทางมันช่างยาวไกล ส่วนทางด้านยิมเองก็ต้องมีอุปกรณ์เฉพาะทางและเตรียมพื้นที่จัดไว้ให้ฝึกต่างหากด้วย
แต่แม้กระนั้น ครอสฟิตเชื่อว่าผลที่ได้รับมันคุ้มความพยายาม จึงบรรจุไว้เป็นท่ามาตรฐานในการฝึกและแข่งขัน และในทางกลับกัน ยิมหลายๆยิมอาจจะมองว่าไม่คุ้มที่จะจัดฝึก หรืออาจจะไม่ได้ต้องการเข้าร่วมแข่งขัน จนไม่นำมาไว้ในโปรแกรม แล้วไปเน้นฝึกอย่างอื่นทดแทน ซึ่งประสิทธิภาพในโปรแกรมทดแทนก็แตกต่างกันไปอีกเช่นกัน

ระบบชุมชน VS ฝึกเอง
หนึ่งเอกลักษณ์ของยิมครอสฟิตก็คือ สังคมในยิมจะมีความเป็นมิตร เพื่อนร่วมยิมมักจะหาเพื่อนฝึกด้วยกันด้วยบรรยากาศที่คล้ายๆเด็กๆชวนกันวิ่งเล่นเวลาพักกลางวัน หรือในหลายๆคลาสเราจะรู้สึกเหมือนมางานปาร์ตี้กีฬา ดังนั้นในแง่หนึ่งครอสฟิตเป็นมากกว่าท่าฝึก ไม่เพียงร่างกายคุณแข็งแรงขึ้นแต่สังคมที่เป็นมิตรจะช่วยให้เราสนุกและมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจริงๆแล้วไม่ได้เกิดขึ้นได้เองแต่เป็นหน้าที่ของทีมงานยิมครอสฟิตที่ต้องรักษาสังคมในยิมให้เป็นแบบนั้น ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นจะตรงกันข้ามกับแนวคิดแบบต่างคนต่างเล่น เข้ายิมมาก็อยู่กับตัวเองเล่นให้จบแล้วกลับบ้าน